งานประเพณีกำฟ้าของไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง แพร่
งานประเพณีกำฟ้าของไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง
"กำฟ้า" เป็นประเพณีอันสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ตั้งแต่ "พวน" ได้อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง อยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงเวียงจันทร์ ถ้าสมัยนั้นมีถนนก็คงประมาณ 200 กิโลเมตรเศษ สาเหตุที่มาจะถูกต้อนหรือหนีภัยมาก็ไม่ทราบชัดเจน ตามประวัติไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้งที่ (นายแสน เสนาธรรม) ได้เรียบเรียงไว้จากพงศาวดารลาวอย่างย่อไว้ว่า เดือน 12 ออกใกล้ 15 ค่ำ (วันที่ 12 พ.ย.2371) เจ้าน้อยเมืองพลบได้อาสาจะจับเจ้าอนุให้ได้ แล้วเมื่อไปพบก็ให้ทหาร 50 คน ล้อมไว้ และบอกแก่แม่ทัพไทยยกทหารไปจับเจ้าอนุ ฝ่ายเจ้านครหลวงพระบางได้ให้ท้าวมหาพรหม และหนานขัตติยะ ไปพบนายด่านเมืองพวน แล้วจึงพาไปจับเจ้าอนุได้พร้อมพระญาติวงศ์ ลงไปกรุงเทพฯ เมื่อเดือนยี่ออกใกล้ 11 ค่ำ (วันที่ 15 ม.ค. 2372) ถูกทรมานจนสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2372 คืออวสานแห่งชาตาของนครเวียงจันทร์บุรีศรีสัตนาคนหตุ ประชาชนพลเมืองชาวลาวหลายแสนคนถูกกวาดต้อนไล่ลงไปอยู่เมืองไทย และกลายเป็นพลเมืองไทยต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้ แต่บางพงศวดารลาวบันทึกไว้ว่า กองทัพไทยยึดเวียงจันทร์ เมื่อปี พ.ศ.2370 แล้วจึงได้ทำลายเมืองเวียงจันทร์เสีย ครอบครัวของเมืองเวียงจันทร์ก็ได้หลบหนีไปทางเมืองลคร, เมืองเชียงใหม่, เมืองลำพูน, เมืองแพร่, เมืองน่าน และเมืองหลวงพระบาง เป็นอันมาก ฯลฯ หากมาประมวลเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว รวมทั้งพวกพวนถูกเวียดนามไล่เข่นฆ่า และจับไปประหารชีวิต แม้แต่เจ้าเมืองพวนทั้งหลายเวียดนามก็จับไปฆ่าหมด ลองคิดดูว่าขณะนั้นพวนเกิดการยุ่งเหยิงวุ่นวาย ผู้คนระส่ำระสาย ดังนั้น บรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะอยู่ได้อย่างไร พวนจึงต้องหนีภัยจากเวียดนามเมื่อปี พ.ศ. 2372 และถูกกวาดต้อนมาพร้อมกับทหารหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตอนยกทัพกลับเมืองไทยก็น่าจะเป็นความจริง เพราะวันเวลาจะใกล้เคียงกัน และอีกอย่างที่ผู้เฒ่าเล่าสืบมา "ไทยพวน" บ้านทุ่งโฮ้ง ได้อพยพมามีอายุราว 160-172 ปี (นับถึงปี 2544) จากพงศวดารลาวที่ได้ยกมาเล่าข้างต้น ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวพวนส่วนมากจึงคล้ายคลึงกันกับคนพื้นเมืองทั่วไป ที่ผิดแปลกไปกว่า "คนไทย" ทั่วไปคือ "ประเพณีกำฟ้า" ประเพณีกำฟ้านี้ ชาวไทยพวนทุ่งโฮ้งได้ถือปฏิบัติกันมานานเป็นร้อยกว่าปีเท่ากับการอพยพลงมา จากเวียงจันทร์ และก็ไม่เคยมีคนไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ถูกฟ้าผ่าตายเลย เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประเพณีอันเก่าแก่ที่สืบทอดมานานทางเทศบาลตำบลทุ่ง โฮ้ง โดยนายกเทศมนตรี(นายวชิรพงศ์ โกสิน)และสภาวัฒนธรรมตำบลทุ่งโฮ้ง, ชมรมไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง, องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งโฮ้ง และชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้งทุกคน จึงได้นำประเพณีกำฟ้าอันนี้มา จากที่ถือปฏิบัติแต่เดิมให้เข้าสู่ยุคสมัยนำวิถีชีวิตชาวไทยพวนทุกรูปแบบ เข้าสู่สังคมไทย และสังคมโลก เพื่อจะให้เยาวชนรุ่น หลังได้รำลึกถึงบรรพบุรุษของไทยพวนอย่างลึกซึ้งและหวนแหน และสร้างความสามัคคีในหมู่พวนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประเพณีกำฟ้า ประจำปี 2546 จะมีการจัดงานสืบทอดประเพณี ระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2546