ตลาดน้ำคลองแห สงขลา

tour-klong-hae-floating-market-songkhla tour-klong-hae-floating-market-songkhla

ตลาดน้ำคลองแห
ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ณ ท่าน้ำวัดคลองแห ตลาดน้ำแห่งแรกของภาคใต้ กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่เข้าไปท่องเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์ โดยมีจุดเด่นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งภาชนะใส่อาหาร เช่น ชามก๋วยเตี๋ยวยังใช้กะลามะพร้าวแทน สามารถสร้างจุดขายใหม่ได้อย่างน่าประทับใจ ได้เปิดเป็นทางการเมื่อ 13 สิงหาคม 2551

สำหรับตลาดน้ำคลองแหนั้น จะเปิดเฉพาะ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แค่ 3 วันเท่านั้น แต่ตั้งเวลา 5 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม ท่านที่จะไปเที่ยวก็อย่าไปผิดวันก่อนแล้วกัน ตลาดน้ำแห่งนี้จะไม่มีการพายเรือขายของเหมือนตลาดน้ำดำเนินสะดวกแต่จะจอดเทียบท่าขายของเรียงรายกันตลอดท่าเรือ ของขายก็จะเป็นอาหารพื้นบ้านของภาคใต้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของที่ตลาดน้ำแห่งนี้ก็คือจะภาชนะจากธรรมชาติก็คือ กะลามะพร้าว หรือ พลก (ภาษาใต้) นำมาใส่ของกิน

ตำนานคลองแห หลายร้อยปีมาแล้ว มีคลองเล็กๆ สายหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดคลองแหในปัจจุบันชื่อว่า "คลองลาน" กับคลองเล็กๆ อีกสายหนึ่งจากทางทิศใต้ชื่อว่า"คลองเตย" ไหลมาบรรจบกันตรงบริเวณเนินดินและป่ารกครึ้มที่ชาวบ้านเรียกว่า "โคกนกคุ่ม" ก่อเกิดเป็นลำคลองสายใหญ่ชื่อว่า "คลองแห" ในวันนี้ มีเรื่องราวเล่าขานเป็นตำนานสืบมา

ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลคลองแหได้เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ ว่าในครั้งที่มีการสร้างเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองตะมะลิง หรือเมืองตามพรลิงค์ คือจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบันนั้น ทางเมืองตะมะลิงได้เป่าร้องประกาศไปทั่วทุกหัวเมืองเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสได้มาร่วมเฉลิมฉลองในพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเจดีย์

ฝ่ายชาวเมืองกลันตันซึ่งอยู่ห่างไกลจากเมืองตะมะลิงมากกว่าหัวเมืองอื่น ก็รวบรวมกันออกเดินทางมุ่งสู่เมืองตะมะลิง ค่ำมืด ณ สถานที่ใดก็พักแรมที่นั่น ครั้นมาถึงสถานที่ซึ่งเรียกว่าคลองแหในปัจจุบัน เห็นว่าเป็นสถานที่สบายพื้นที่เป็นเนินสูงมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม เป็นคุ้งคลองน้ำสะอาดใส เมื่อพักแรมหนึ่งคืนแล้ววันรุ่งขึ้นก็เตรียมการเดินทางต่อไป ขณะที่จะเดินทางต่อไปนั้น มีขบวนคนเป็นจำนวนมากเดินทางมาจากทิศเหนือบ่ายหน้าลงใต้ผ่านมาทางนั้น สอบถามได้ความว่าเดินทางกลับจากงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองตะมะลิง เมื่อทราบว่างานได้เสร็จสิ้นแล้ว ชาวเมืองกลันตันก็ล้มเลิกความตั้งใจและจะเดินทางกลับ แต่มาคิดว่าสิ่งของต่างๆ ที่เตรียมมาเพื่อจะนำไปบรรจุในเจดีย์เป็นพุทธบูชา เช่นแก้วแหวนเงินทอง ไหนๆ ก็ตั้งใจจะถวายเป็นพุทธบูชาจึงไม่นำกลับไป รวบรวมสิ่งของเหล่านั้นมากองไว้ อธิษฐานเป็นพุทธบูชาแล้วขุดหลุมฝังไว้ตรงพื้นที่สามเหลี่ยมที่คลองสองสายมาบรรจบกัน คือคลองลานตรงมาจากทิศตะวันตก และคลองเตยที่มาจากทิศใต้ แล้วเกิดเป็นคลองสายใหญ่ขึ้น สถานที่ดังกล่าว ปัจจุบันปรากฏเป็นเนินสูงมีน้ำล้อมรอบ ชาวบ้านเรียกว่า“โคกนกคุ่ม” (สันนิษฐานว่าบริเวณนั้นเคยมีนกคุ่มอยู่มาก)

สำหรับเครื่องประโคมโหมแห่ต่างๆ ที่มาในขบวน เช่น ฆ้อง(ใบใหญ่) กลอง ฉิ่ง ฉาบ ก็นำมากองไว้ อธิษฐานเป็นพุทธบูชา แล้วก็จมลงในคลองสายใหญ่นั้น แต่นั้นมาชาวบ้านจึงเรียกคลองนั้นว่า"คลองฆ้องแห่" แต่คนทางใต้ไม่นิยมพูดคำที่มีหลายพยางค์ ต่อมาคำว่า"ฆ้อง"จึงหดหายไป เหลือเป็น"คลองแห่" แต่เมื่อพูดเป็นสำเนียงถิ่นใต้แล้วเสียงวรรณยุกต์เอกไม่มี คำว่าแห่จึงพูดเป็นแห และเรียกคลองแหมาจนทุกวันนี้