รับจัด Outing, Team Building, CSR, Walk Rally, สัมนานอกสถานที่, ดูงาน ในประเทศและโซนเอเชีย
สำหรับบริษัทในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
084-160-0210 , 02-733-0683

ประเภทการทำเทียน อุบลราชธานี

ประเภทของต้นเทียน
ประเภทของต้นเทียนที่จัดประกวดในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

๑) ประเภทมัดรวมติดลาย หรือ เทียนโบราณ
๒) ประเภทติดพิมพ์
๓) ประเภทแกะสลัก

ต้นเทียนประเภทมัดรวมติดลาย หรือ เทียนโบราณ

tour-candle-making-types-ubon-ratchathani tour-candle-making-types-ubon-ratchathani tour-candle-making-types-ubon-ratchathani

ความเป็นมาเรื่องเทียนโบราณ อุบลราชธานี ถือว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในดงอู่ผึ้ง ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ได้เล่าให้ลูกหลาน เหลนโหลน ได้ฟังสืบทอดกันมา ความว่า........

เทียนได้มาจากน้ำผึ้ง ประกอบกับอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในแหล่งหรือพื้นที่เป็นป่าไม้ มีผึ้งมาอาศัยทำรวงรังอยู่มากมาย จนได้เรียกว่า "ดงอู่ผึ้ง" ผึ้งเกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องในเรื่องพุทธศาสนา ดังนิทานในชาดกที่เราท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังมา คือ เมื่อครั้งพุทธกาลตามหนังสือ พระธัมปทัฏฐกถา แปล ภาค 1 ในเรื่องลำดับที่ 5 คือ เรื่องพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ซึ่งมีความตอนหนึ่ง กล่าวถึงวานรถวายรวงน้ำผึ้ง ขณะนั้นมีช้างชื่อ ปาริเลยยกะ อุปัฏฐากพระศานา มีวานรตนหนึ่งเห็นการกระทำนั้น ถือนำน้ำใส่เต้าถวายพระศาสดา จึงคิดอยากจะทำอะไรสักอย่างถวายพระตถาคตเจ้าบ้าง วานรตัวนั้นจึงเที่ยวไป วันหนึ่งวานรเห็นรวงผึ้งที่กิ่งไม้ แต่หาตัวผึ้งไม่มี จึงหักเอากิ่งไม้ที่มีรวงผึ้งนั้น แล้วนำรวงผึ้งทั้งกิ่งไม้ไปสู่สำนักพระศาสดา

พระศาสดาทรงรับไว้ วานรเฝ้าดูอยู่ เพื่อจะได้ทราบว่า พระศาสดาจะบริโภคหรือไม่พระศาสดาทรงนิ่งเฉยอยู่ วานรเกิดความสงสัย จึงนำกิ่งไม้พิจารณาดูเห็นตัวอ่อนของผึ้ง จึงค่อยๆ นำตัวอ่อนนั้นออกเสีย แล้วถวายใหม่ พระศาสดาทรงบริโภค วานรนั้นมีใจยินดี กระโดดโลดเต้นไปตามประสา ไปตามกิ่งไม้ จนพลัดตกลงมาที่ปลายตอไม้ ทำให้วานรถึงแก่ความตาย แต่อานิสงส์ที่ทำไว้ ถือเป็นผู้หารวงผึ้งมาถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงศีล จึงได้เกิดในวิมานทอง สูง 30 โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนางอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร

จากเรื่องที่ปรากฏในสมัยพุทธกาลที่กล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นั้น มนุษย์เพียงแต่รู้จักบริโภคน้ำผึ้ง แต่ยังคงไม่รู้จักนำขี้ผึ้งมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นำมาทำเป็นเทียนขี้ผึ้ง

แต่อย่างไรก็ตาม การให้แสงสว่างเป็นทานนับว่ามีประโยชน์ ทั้งให้แสงสว่างที่เป็นแสงสว่างจริงๆ และการให้แสงสว่างทางด้านปัญญา ทั้งยังมีเรื่องเล่าอีกว่า พระอนุรุทธะ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม เฉลียวฉลาดรู้อรรถ รู้พระธรรมวินัยแตกฉาน จนเป็นที่เรื่องลือเกี่ยวกับเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในชาติปางก่อน พระอนุรุทธะเคยได้ให้แสงสว่างเป็นทาน จึงมีปัญญาเฉลียวฉลาด

เรื่องราวทั้งหลาย จึงได้สืบทอดมาจนยุคปัจจุบัน และข้อความที่ว่า การนำขี้ผึ้งมาทำเป็นเทียนถวายพระสงฆ์ย่อมได้บุญกุศล จึงมีผู้คนได้คิดทำเทียนประเภทต่างๆ ขึ้นเพื่อนำถวาย

เทียนประเภทมัดรวมติดลาย หรือ เทียนโบราณ เป็นเทียนที่มีมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี นับเป็นต้นแบบของเทียนทุกประเภท เทียนมัดรวมติดลาย มีลักษณะเหมือนเทียนพุ่มแต่ได้ประดิดประดอยตกแต่งด้วย สีของแท่งเทียนที่มีสีเหลือง ขาว ขนาดสั้น ยาว ปานกลาง จากนั้นนำเชือกปอ หรือกระดาษ สีต่าง ๆ มาพันหรือตัดให้เป็นลวดลายประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามแปลกตาเทียนมัดรวมติดลายมีขั้นตอน และวิธีการจัดเตรียมไม่ยุ่งยากเหมือนเทียนประเภทอื่น ๆ ปัจจุบันได้มีการนำเทียนประเภทนี้เข้าร่วมประกวดในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี

ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์

tour-candle-making-types-ubon-ratchathani tour-candle-making-types-ubon-ratchathani

ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์มีการจัดทำมาเป็นเวลานานแล้ว และยังอยู่ในความนิยมของประชาชนเป็นอย่างมาก เป็นต้นเทียนที่มีขั้นตอนและลวดลายละเอียดอ่อน ต้องใช้คนจำนวนมากในการจัดทำ อีกทั้งขึ้ผึ้งที่ใช้ในการทำดอกผึ้ง (ลายเทียน) ก็ต้องใช้ขี้ผึ้งแท้เป็นส่วนใหญ่ส่วนต้นเทียนนั้นแต่เดิมใช้ขี้ผึ้งถ้วย (ขี้ผึ้งน้ำมัน) ผสมกับขี้ผึ้งแท้หล่อลำต้น แต่ในปัจจุบันบางคุ้มวัดจะใช้เชือกพันรอบแกนเหล็ก เทรอบด้วยปูนปลาสเตอร์ ตกแต่งให้กลมแล้วทาด้วยสีพลาสติก หรือใช้ไม้อัดทำเป็นเหลี่ยม อาจเป็นรูปหกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม หรือเหลี่ยมย่อมุมตามแต่ความต้องการ แทนการหล่อให้กลมเพียงอย่างเดียว นายสมคิด สอนอาจ ครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรมการติดพิมพ์เทียนพรรษาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำลำต้นเทียนเพื่อใช้สำหรับติดพิมพ์ว่า อาจมีรูปแบบการจัดทำได้หลายรูปแบบตามความคิดของช่างทำต้นเทียน ขึ้นอยู่กับว่าต้องการนำเสนอเรื่องราวในด้านใดของพระพุทธศาสนา

ซึ่งในอดีตนั้นยังคงยึดถือว่าต้นเทียนต้องมีลักษณะกลมเท่านั้น ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนรูปทรงของต้นเทียนโดยอิงแนวคิดจากหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นเกณฑ์ เช่น สี่เหลี่ยมมาจากอริยสัจ ๔ ประการ หกเหลี่ยมมาจาก อบายมุข หรือแปดเหลี่ยมมาจาก มรรค ๘ สำหรับต้นเทียนพรรษาในปี ๒๕๕๐ ที่นายสมคิด สอนอาจ ได้ออกแบบไว้ ขณะนี้มีแนวความคิดที่จะทำเป็นเก้าเหลี่ยมเพื่อถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา นับเป็นการสร้างสรรค์งานเทียนอีกประการหนึ่ง ด้วยเช่นกัน

ต้นเทียนประเภทแกะสลัก

tour-candle-making-types-ubon-ratchathani tour-candle-making-types-ubon-ratchathani

ขั้นตอนการทำต้นเทียนประเภทแกะสลัก จะมีการจัดเตรียม คล้ายกับการจัดทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ดังได้กล่าวไว้แล้ว ในส่วนนี้ จะได้กล่าวเฉพาะส่วนที่แตกต่างกัน คือ ขี้ผึ้งและลักษณะการออกแบบต้นเทียน

คุณภาพของขี้ผึ้งที่ใช้ทำ ขี้ผึ้งที่ใช้ทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ เป็นขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้ หรือจะเรียกว่าขี้ผึ้งผสมก็ได้ ส่วนขี้ผึ้งที่ใช้ทำต้นเทียนประเภทแกะสลัก จำเป็นต้องใช้ขี้ผึ้งที่มีคุณภาพดี หรือ ขี้ผึ้งแท้ ประการที่สอง แม้ต้นเทียนทั้ง ๒ ประเภท จะมีวิธีการหล่อเป็นลำต้นเหมือนกัน ถ้าต้องการให้ต้นเทียนทั้ง ๒ ประเภทมีขนาดเท่ากัน ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์จะต้องหล่อให้มีขนาดเล็กกว่าไว้ก่อนแล้ว ติดแผ่นผึ้งและดอกผึ้งให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามต้องการ ส่วนต้นเทียนประเภทแกะสลักจะต้องหล่อลำต้นให้มีขนาดใหญ่กว่าไว้ก่อนแล้วแกะสลัก หรือขูดขี้ผึ้งออกจนให้มีขนาดตามความต้องการ

ชาวอุบลได้คิดค้นทำต้นเทียนและตั้งชื่อมาหลายรูปแบบตามชื่อเมืองนักปราชญ์ ดังนี้
1. เทียนมณฑป ถือว่าทำมาตั้งแต่สมัยก่อนๆ ซึ่งเรียกว่าสมัยโบราณ ได้คิดค้นมา ความหมายคือ ทำเป็นที่วางเครื่องบริขารในการทอดกฐิน มณฑปนี้ถ้าจะเรียกชื่ออีกอย่าง ก็ดูเหมือนว่าบุษบก เพราะรูปแบบคล้ายคลึงกัน ไม่มีแตกต่างกันเลย มณฑปนี้ ทำแทนหอ คือ ที่ตั้งที่วาง เพื่อให้เครื่องบริขารและบริวารที่จะนำไปทอดถวายพระสงฆ์ อยู่เป็นที่มีขอบเขตเป็นสัดส่วน เป็นเอกเทศ ไม่กระจัดกระจาย ส่วนเทียนนั้น จะตั้งไว้บนแผ่นโลหะที่เป็นจาน เป็นถาด หรือพาน เทียนนี้จะไม่จุดไฟ ทำตั้งไว้เพื่อบูชาเป็นเครื่องบริขาร ที่ทำเป็นรูปมณฑปนั้น เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เกิดความสวยงาม รวมความหมายถึงฐานะของเจ้าของศรัทธาผู้ทำบุญกฐินด้วย แต่บางครั้งก็ใช้ในการทอดผ้าป่า ส่วนมณฑปนี้ เจ้าศรัทธาก็ได้นำถวายให้วัด จะไม่นำกลับคืนมา

2. เทียนปราสาทผึ้ง ถือว่าเป็นเทียนโบราณอีกแบบหนึ่ง ความหมาย ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนความหมายอีกอย่าง ทำเพื่อแก้บน ซึ่งผู้ทำได้บนบานไว้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องเจ็บป่วย มีเรื่องไม่ดีไม่งาม เรื่องการไปทางไกล ฯลฯ พอสิ้นเรื่องราวแล้ว เจ้าตัวก็จะทำต้นดอกผึ้งไปเส้นสรวงถวายเทพเจ้าเพื่อเป็นการแก้บนไว้ แต่การทำเทียนแบบนี้ เขาจะใช้กาบกล้วย ซึ่งแกะแคะออกจากลำต้นมาทำ หักพับเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือเอาต้นกล้วยยังเล็กอยู่มาทำ โดยใช้ดอกพิมพ์จากแบบพิมพ์ แม่พิมพ์ก็อาศัยแบบจากตัดเอาก้านกล้วยบ้าง เผือกบ้าง มันแกว มันเทศบ้าง มาแกะเป็นรูปดอกไม้ ใช้ไม้เสียบ จุ่มลงในขี้ผึ้งที่ต้มให้ละลาย แล้วนำมาจุ่มลงในน้ำเย็น ดอกจะหลุดลงอยู่ในน้ำเย็น เมื่อแข้งตัวแล้ว นำดอกไปกลัดติดกับลำต้นกล้วยที่นำมาเตรียมไว้ หรือกาบกล้วย ให้เกิดความสวยงาม ปัจจุบัน เจ้าศรัทธาที่ร่ำรวย ก็พัฒนาทำเป็นเค้าโครงด้วยไม้ เป็นรูปร่างเหมือนปราสาทจริงๆ ก็มีเทียนปราสาทผึ้ง หรือต้นดอกผึ้ง (ชาวบ้านเรียก เผิ่ง) ยังทำให้เห็นอยู่โดยตลอดปัจจุบัน โดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบท

3. เทียนพุ่ม ความมุ่งหมาย จัดทำเพื่อให้เกิดความสวยงาม ประกอบกับเป็นเทียนที่มีขนาดเล็กและสั้น เจ้าศรัทธาจะนำเทียนก่อนจะถวายมัดรวมไว้ ส่วนมากเป้นเทียนที่ฝั้นเสร็จตั้งในขันหรือพานไม้ที่มีอยู่ ให้ไส้เทียนอยู่เบื้องบน ดูๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่สมัยโบราณ คงยกย่องและสรรเสริญในแนวความคิดที่จัดทำแบบแปลกๆ ความมุ่งหมายที่แท้จริง ก็เพื่อถวายพระสงฆ์เท่านั้น ถือว่าได้กุศล

4. เทียนมัดรวม ความมุ่งหมายที่แท้จริง ก็หมายถึง เอาไปถวายพระสงฆ์ในสำนักสงฆ์ หรือวัด เทียนมัดรวม ก็เหมือนเทียนพุ่ม แต่ในกาลต่อมา ได้มีการประดิดประดอย ตกแต่งต้นเทียนสั้น ยาว ปานกลาง ตั้งขึ้น นำเชือกปอ ตัดกระดาษสีมารัดเป็นเปลาะๆ ให้แปลกตาเกิดความสวยงาม ถึงกับระยะเวลาต่อมา ได้มีการท้าทายของชาวคุ้มวัดต่างๆ เพื่อประกวดประชันว่า ของใครจะทำดี ทำสวย ทำแปลก มีการแห่แหนด้วยหมอลำ หมอขับ หมอร้อง มีเครื่องดนตรี ดีดสีตีเป่า ตามแต่จะหาได้

เทียนทั้งสี่ชนิด สี่ประเภท ล้วนเป็นเรื่องราวที่มาของคำบอกเล่าว่า เป็นเทียนโบราณ อนุชนรุ่นหลังรุ่นปัจจุบัน ไม่รู้ ไม่เห็น จึงได้มีการสืบเสาะแสวงหา ดังปรากฏขณะนี้

ผู้เป็นต้นคิด คือ ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผู้นำมาเสนอเรียยบเรียง คือ นายประดับ ก้อนแก้ว อดีตผู้อำนวยการ โรงเรียนอุบลวิทยาคม
ที่ปรึกษา นายบำเพ็ญ ณ อุบล อดีตอัยการ และนายสุวิชช คูณผล อดีตปลัดเทศบาล

tour-candle-making-types-ubon-ratchathani tour-candle-making-types-ubon-ratchathani

tour-candle-making-types-ubon-ratchathani tour-candle-making-types-ubon-ratchathani

ค้นหาที่ท่องเที่ยว


Thailand Tourism Standard

ทัวร์แนะนำ

ผู้เข้าชม

มี 1323 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์