วัดแม่พระเมืองลูห์ด หาดใหญ่ สงขลา
สารบัญ
ในวันที่ 23 ตุลาคม พระคุณเจ้าปาซอตตีและคุณพ่อมารีโอได้เดินทางไปปัตตานี วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ได้สำรวจตัวเมืองปัตตานีได้กลับมาที่หาดใหญ่ ในวันที่ 25 ตุลาคม กัปตันวอสเบนได้มาพบพระคุณเจ้าที่หาดใหญ่มาเรียนคำสอนเพื่อจัดพิธีแต่งงานให้เรียบร้อย ท่านได้สนทนากับพระคุณเจ้าและคุณพ่อมารีโอเป็นเวลานานเกี่ยวกับเมืองหาดใหญ่ ท่านได้รายงานว่าที่หาดใหญ่ ทุ่งลุง และอำเภอสะเดา มีคริสตังชาวจีนจำนวนหนึ่งด้วย ตอนนั้นที่หาดใหญ่ มีคริสตชนชาวจีน คนไทยและชาวต่างประเทศ ประมาณ 20 คน อาทิเช่น ครอบครัวของนายคินซู แซ่หลี ครอบครัวของนายเหลียนฟัดและครอบครัวของนายกิมเหงียน แซ่หย่อง ต่อ มามีนายคอเหลียง แซ่เจ็ง พี่ชายคุณพ่อวีระ แซ่เจ็ง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุล เป็น เจนผาสุก) และครอบครัวอื่นๆ นอกนั้นมีชาวต่างประเทศบางคนที่มาค้าขายอาทิเช่นมิสเตอร์ สไรเบอร์ (Mr.Schreiber) ชาวเยอร์มัน นายโทมัส (Mr. Thomas) ชาวอินเดียและคนไทย อาจารย์ทวนคมกฤสคนไทยที่เป็นข้าราชการ นอกนั้นยังมีคริตชนที่กระจัดกระจายอยู่ตามเสันทางหาดใหญ่สะเดา รวมทั้งหมดประมาณ 60 คน
พระคุณเจ้าปาซอตตี และคุณพ่อมารีโอ ได้ทราบว่าชาวจีนที่หาดใหญ่มักจะส่งลูกๆ ไปเรียนที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพราะที่นั่นมีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพมากกว่า และพวกเขาจะได้เรียนภาษาจีนและภาษาอังกฤษด้วย ถ้าคณะนักบวชซาเลเซียนมาเปิดโรงเรียนที่มีระดับและสอนภาษาที่หาดใหญ่ ชาวหาดใหญ่จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อาจารย์ทวนปรารภกับพระคุณเจ้าว่าที่สงขลามีเถ้าแก่ซีกิมหยง ซึ่งมีที่ดินมากมายที่หาดใหญ่ท่านยินดีถวายที่ดินแปลงหนึ่งสำหรับการเปิดกิจการโรงเรียนดังกล่าว พระคุณเจ้าปาซอตตีได้เดินทางไปดูที่ดินดังกล่าวเป็นครั้งแรก
ในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1935 พระคุณเจ้าปาซอตตี และคุณพ่อมารีโอ ได้เดินทางไปสงขลาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปทำพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ในบ้านของกัปตันวอสเบน ท่านได้ทำพิธีแต่งงานให้เขา โปรดศีลล้างบาปให้ลูก เมื่อเสร็จพิธีท่านก็เดินทางไปปีนังโดยรถยนต์
ในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1935 พระคุณเจ้าปาซอตตี ได้เขียนจดหมายถึงผู้ใหญ่ของคณะที่กรุงตุริน บรรยายสภาพของกลุ่มคริสตชน และความหวังที่ท่านมีสำหรับกิจการคาทอลิกในอนาคตที่หาดใหญ่และอาณาบริเวณ พระคุณเจ้าปาซอตตีและคุณพ่อมารีโอ ได้กลับไปถึงราชบุรีในวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935
ในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1936 คุณพ่อมาริโอได้ออกเดินทางไปใต้เป็นครั้งที่ 2 ท่านใช้เวลา45 วันในการเดินทางเยี่ยมเยียนครอบครัวคริสตังที่กระจัดกระจายตามจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ ทั้งตามทางรถไฟทั้งฝั่งทะเลอันดามัน ที่หาดใหญ่ท่านได้พักที่บ้านของอาจารย์ทวน คมกฤศ ที่คอหงสั และจากที่นี่ท่านก็ไปเยี่ยมเยียนครอบครัวคริสตังในเมืองหาดใหญ่และสงขลาพระคุณเจ้าปาซอตตี ได้แวะที่หาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1936 (เป็นครั้งที่ 2)
ขณะที่กำลังเดินทางไปเบตง และอีกครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1937 (ครั้งที่ 3) ขากลับจากเบตงหลังจากที่ได้เสกวัดน้อยนักบุญเปโตรที่นั่นแล้ว ท่านได้แวะที่หาดใหญ่เพื่อทำมิสซาให้คนจีนที่นั่นด้วย
ในปี ค.ศ.1936 พระคุณเจ้าปาซอตตีได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งประมาณ 12 ไร่ ที่คอหงส์อำเภอ หาดใหญ่ ท่านรายงานเรื่องนี้ในการประชุมที่ปรึกษาของมิสซัง ในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 ว่าท่านได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งประมาณ 12 ไร่ ที่หาดใหญ่ ในราคา 485 บาท
คุณพ่อย็อบ การห์นีนี่ มักจะเดินทางไปหาดใหญ่ สะเดา และเบตง ในเดือนเมษายนเพื่อให้โอกาสแก่ครอบครัวคริสตชนคนจีนทีจะฉลองปัสกาเป็นประจำทุกปี ท่านรู้จักภาษาจีนเป็นอย่างดีและสามารถแทนพระคุณเจ้าปาซอตตีได้ (อ้างอิง บันทึก เมษายน ค.ศ. 1936)
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1937 คุณพ่อมารีโอได้เดินทางไปถึงหาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ท่านได้ไปพักที่บ้านอาจารย์ทวน คมกฤศ (ดูการบันทึกของพ่อมารีโอ วันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1937 - 24 มกราคม 1938) ท่านได้เดินทางไปพบเถ้าแก่ซีกิมหยงที่สงขลา เพื่อปรึกษาหารือเรื่องที่ดินที่หาดใหญ่ คุณพ่อมารีโอได้สนทนากับเถ้าแก่ซีกิมหยงเป็นเวลานานเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของเมืองหาดใหญ่ และกิจการของเถ้าแก่ ซึ่งเถ้าแก่ซีกิมหยงได้รับปากกับคุณพ่อมาริโอว่าท่านยินดีถวายที่ดิน 6 ไร่ เมื่อมิสซังราชบุรีจะเปิดโรงเรียน (ดูจดหมายที่คุณพ่อมาริโอ รูเซดดู เขียนถึงพระคุณเจ้าปาซอตตี จากเหมืองปินเยาะ ลงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1938)
ภายหลังไม่นานคุณพ่อมาริโอ ได้เขียนจดหมายถึงพระคุณเจ้าปาซอตตี อีกฉบับหนึ่งรายงานว่าที่หาดใหญ่มีคาทอลิกชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อนายโทมัส (Mr. Thomas) ซึ่งเคยสัญญากับคุณพ่อที่มาจากปีนัง ท่านพร้อมที่จะให้ที่ดินแปลงเล็กๆ ที่หาดใหญ่ เพื่อสร้างวัด แต่คุณพ่อไม่เคยมาดำเนินการในเรื่องนี้ คุณพ่อมารีโอสรุปว่าเมืองหาดใหญ่เป็นเมืองพร้อมต้อนรับกิจการคาทอลิกสักแห่งหนึ่ง และกิจการนี้มีอนาคตแน่นอนเพราะคนจีนต้องการ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือพระคุณเจ้าปาซอตตี ได้เดินทางไปเบตงพร้อมกับสามเณรคาร์เร็ตโต (Carretto Pietro) ในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1938 ท่านได้แวะที่หาดใหญ่เหมือนกัน (ดูเรื่องวัดเบตง)
คุณพ่อมารีโอ ยังเดินทางเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง เพื่อไปเยี่ยมเยียนคริสตชนภาคใต้ในโอกาสคิรสต์มาส พระคุณเจ้าปาซอตตี หรือคุณพ่อยอบ การ์นินี มักจะเดินทางไปเบตง เพราะเขาทั้งสองรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดี (ดูการบันทึกรายวันของคุณพ่อมาริโอที่ราชบุรี และบ้านเณรใหญ่ที่บางนกแขวกที่เก็บไว้ในห้องเอกสารสำนักงานซาเลเซียนที่กรุงเทพฯ)
พระคุณเจ้าปาซอตตี พร้อมคุณพ่อเกรสปี (Don Delhno Crespi) ได้เดินทางไปเบตงอีกครั้งหนึ่งระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม -12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1939 โดยผ่านทางยะลา ขากลับท่านทั้งสองได้แวะที่หาดใหญ่ท่านพักที่โรงแรมเพราะอาจารย์ทวีได้ย้ายไปอยู่อำเภอสวรรคโลก ทางเหนือของเมืองสุโขทัย วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1939 มีคนจีน 2 คนจากบ้านทุ่งลุง (ยังมีนายคอเหลียง แซ่เจ็ง พี่ชายคุณพ่อวีระและบราเดอร์มานพ แซ่เจ็ง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น เจนผาสุก) ได้มารับท่านไปทำมิสซาที่บ้านทุ่งลุง (ห่างจากหาดใหญ่ไปทางสะเดา 25 กิโลเมตร) คริสตังทุกคนเห็นพร้อมกันว่ามิสซังราชบุรีน่าจะเปิดโรงเรียนที่หาดใหญ่ พระคุณเจ้าปาซอตตีสัญญาว่าเรื่องนี้ใกล้ความจริงแล้วจะมีโรงเรียนและหอพักนักเรียนประจำด้วย
หาดใหญ่ ศูนย์กลางภาคใต้
พระคุณเจ้าปาซอตตีและคุณพ่อเกรสปี ได้เดินทางไปพบเถ้าแก่ซีกิมหยงที่สงขลา เถ้าแก่ได้ย้ำคำสัญญาที่เคยให้กับคุณพ่อมารีโอว่า พร้อมที่จะให้ที่ดินเพื่อมิสซังจะส่งคุณพ่อองค์หนึ่งมาประจำที่หาดใหญ่ เพื่อเปิดกิจการโรงเรียนในปี ค.ศ.1939 -1940 คุณพ่อเจ้าคณะซาเลเซียนแห่งประเทศไทย มีโครงการขยายงานไปทางใต้ท่านกำลังศึกษาอยู่ว่าควรจะเปิดที่ภูเก็ตหรือที่หาดใหญ่ ในวันที่ 22 - 29 มิถุนายน ค.ศ. 1940 คุณพ่อยอห์น การ์เซตตา (Fr. Casetta John) เจ้าคณะซาเลเซียนแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปหาดใหญ่ พร้อมกับคุณพ่อมารีโอ รูเซดดู (ดูการบันทึกรายวันของบ้านเณรบางนกแขวก ในวันที่ 29 มิถุนายน 1940) เขาทั้งสองได้อยู่ที่หาดใหญ่ในวันที่ 24 - 25 มิถุนายน คุณพ่อเจ้าคณะได้สังเกตเห็นว่าเมืองหาดใหญ่เป็นเมืองธุรกิจที่มีอนาคต คุณเม่งจุน คริสตชนคนหนึ่งที่หาดใหญ่ได้พาคุณพ่อทั้งสองไปพบเถ้าแก่ซีกิมหยง เพื่อปรึกษาหารือเรื่องที่ดินและการเปิดกิจการโรงเรียนที่หาดใหญ่
คุณพ่อเจ้าคณะยังได้เดินทางไปเกาะภูเก็ตกับคุณพ่อมารีโอ เพื่อศึกษาสถานการณ์ที่นั่นด้วยก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเปิดกิจการที่หาดใหญ่หรือที่ภูเก็ต ในที่สุดคุณพ่อเจ้าคณะได้สรุปว่าหาดใหญ่เป็นเมืองที่เหมาะสมที่สุดเพื่อเปิดกิจการซาเลเซียนแห่งแรกในภาคใต้ เมื่อได้ขออนุญาตผู้ใหญ่ของคณะที่กรุงตุริน คุณพ่อเจ้าคณะได้นำเรื่องนี้มาปรึกษากับที่ปรึกษาของแขวง ในที่สุดเดือนธันวาคม ค.ศ. 1940 คุณพ่อเจ้าคณะและที่ปรึกษาได้ลงมติเห็นด้วยที่จะเปิดกิจการโรงเรียนที่หาดใหญ่และที่หัวหิน (ดูรายงานมติของที่ปรึกษาเจ้าคณะ วันที่ 30 ธันวาคม 1940)
หมายเหตุ สถานการณ์ในประเทศไทยขณะที่แขวงซาเลเซียนแห่งประเทศไทยเปิดบ้านซาเลเซียนที่หาดใหญ่
1. คุณพ่อเจ้าคณะได้ตัดสินใจที่จะดำเนินโครงการเปิดบ้านที่หัวหินและที่หาดใหญ่ปลายปีค.ศ. 1940 ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเริ่มสงครามอินโดจีน และในทวีปยุโรปมีสงคราม
2. เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมคุณพ่อมารีโอไม่สามารถเปิดโรงเรียนที่หาดใหญ่ ควรจะคำนึงถึงสถานการณ์ด้านการเมืองและบรรยากาศแห่งการเบียดเบียนศาสนา
3. เถ้าแก่ซีกิมหยงได้สัญญาที่จะถวายที่ดินให้แก่พระคุณเจ้าปาซอตตี และคุณพ่อมารีโอ แต่เมื่อถึงเวลาคุณพ่อเจ้าคณะเป็นผู้ที่ลงทุนเปิดบ้านที่หาดใหญ่
คุณพ่อมารีโอ รูเซดดู เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 1
(ข้อมูลต่อไปนี้ คัดมาจากการบันทึกรายวันที่หาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในห้องเอกสารของแขวง)
ในการเดินทางหาดใหญ่ ในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1941 คุณพ่อมารีโอได้เช่าบ้านหลังหนึ่งใกล้ๆ วงเวียนน้ำพุในปัจจุบันเพื่อเตรียมที่จะมาอยู่ประจำที่หาดใหญ่
ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 คุณพ่อเดินทางจากบางนกแขวก พร้อมกับนายบุญยงค์ ก่อนที่จะเดินทาง พระคุณเจ้าปาซอตตี เป็นห่วงมากจึงได้หยิบพระรูปแม่พระนิรมลทินมอบให้คุณพ่อมารีโอโดยพูดว่า “ขอให้คุณพ่อรับพระรูปแม่พระของคุณพ่อบอสโกรูปนี้แล้วอย่าลืมสิ่งที่คุณพ่อบอสโกเคยบอกว่า อาศัยความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทและต่อแม่พระจะช่วยท่านให้ทำสิงใหญ่โตได้” คำพูดของพระคุณเจ้าปาชอตตีเหล่านี้ เป็นเสมือนคำทำนายสำหรับคุณพ่อมารีโอที่กำลังเดินทาง (ในเวลานั้นเป็นระยะเวลาแห่งการเบียดเบียนศาสนา) คุณพ่อเจ้าคณะไปส่งคุณพ่อที่สถานีรถไฟราชบุรี และอวยพรให้งานที่คุณพ่อจะกระทำนี้สำเร็จด้วยดี
ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่แม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด คุณพ่อมาีริโอ รูเซดดู มาถึงที่อำเภอหาดใหญ่ เพื่ออยู่ประจำ คุณพ่อนำสัมภาระของท่านไปยังบ้านที่ท่านได้เช่าไว้ล่วงหน้าแล้ว เจ้าของบ้านรีบมาบอกคุณพ่อว่ายกเลิกสัญญาเช่า เพราะว่าคุณพ่อเป็นผู้สอนศาสนาที่รัฐบาลไม่ชอบ คุณพ่อเป็นผู้ที่ได้วิ่งเต้นเพื่อเปิดกิจการที่หาดใหญ่ และมีความหวังสูงสำหรับกิจการนี้ แต่เ๋ืมื่อคุณพ่อได้ยินคำพูดเหล่านี้ขณะที่คุณพ่อเหนื่อยจากการเดินทางเป็นเวลาหลายชั่วโมงท่านก็มีความผิดหวังมาก แต่คุณพ่อมารีโอคิดถึงคำพูดของพระคุณเจ้าปาซอตตี จึงคิดในใจว่าแม่พระต้องเริ่มทำอัศจรรย์ในวันนี้เอง ท่านก็ได้พบที่พักในบ้านของนายแพทย์โทมัส (Mr. Thomas) เป็นบ้านที่กำลังก่อสร้างแต่นายโทมัสยินดีให้คุณพ่ออยู่ชั่วคราว เมื่อคุณพ่อทำมิสซาในวันอาทิตย์แรกที่คุณพ่ออยู่ประจำมีคริสตชนมาร่วมพิธีไม่กี่คน ต่อมาก็มีคนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ต้นเดือนมีนาคม คุณพ่อได้เช่าบ้านของนายปาเป้ (MR.PAPE) เป็นโปรแตสแตนท์ ชาวเนเธอร์แลนด์ เป็นเพื่อนกับมิสเตอร์ สไรเบอร์ (Mr.Schreiber) คาทอลิก ชาวเยอรมัน มิสเตอร์ปาเป้ ให้คุณพ่อเช่าบ้านในราคาพิเศษ 10 บาทต่อเดือน เพื่อความอยู่รอดคุณพ่อจึงต้องลงมือสอนพิเศษภาษาอังกฤษในตอนเย็น เจ้าอาวาสองค์แรกในภาคใต้ รับผิดชอบงานอภิบาล 14 จังหวัดภาคใต้ด้วย
วัดแรกแม่พระแห่งเมืองลูร์ดในที่ปัจจุบัน
ในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1941 เถ้าแก่ซีกิมหยงได้นัดคุณพ่อมารีโอให้ไปพบที่บ้านของตนที่สงขลา และท่านได้มอบหนังสือสัญญามอบที่ดิน 6 ไร่ ให้แก่คุณพ่อมารีโอ
ในวันที่ 9 เมษายน คศ. 1941 คุณพ่อการ์นินี พร้อมสามเณรสนม วีระกานนท์ ได้ไปถึงหาดใหญ่ ขณะที่กำลังเดินทางไปเบตงเพื่อไปฉลองปัสกา เมื่อเขาทั้งสองไปถึงอำเภอบันนังสตาร์ สามเณรสนมถูกตำรวจจับเพราะไม่มีบัตรประจำตัว ถูกกล่าวหาเป็นแนวร่วม คุณพ่อการ์นินี จึงโทรเลขไปบางนกแขวกให้อธิการบ้านเณรฝากเอกสารของสามเณรสนม มากับคุณพ่อวันเดอร์วอร์ต (Van Der Voort) ซึ่งกำลังเดินทางลงมาหาดใหญ่ ในวันที่ 18 เมษายน มาเป็นผู้ช่วยคุณพ่อมาริโอสอนภาษา ปลายเดือนเมษายน สามเณรสนม วีระกานนท์ จึงถูกปล่อยตัว
วันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1941 คุณพ่อเจ้าคณะมาเยี่ยมเพื่อดูสถานการณ์ คุณพ่อเจ้าคณะอนุมัติให้คุณพ่อเตรียมแบบสร้างบ้านหลังหนึ่งในที่ดินที่รับถวายมา ต่อมาคุณพ่อเจ้าคณะพร้อมที่ปรึกษาได้อนุมัติโครงการสร้างบ้านที่หาดใหญ่ในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1941 และในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 มีการเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้าง ต้นเดือนมิถุนายนมีการสร้างสะพานข้ามคลองเตยยาว 24 เมตร และได้ลงมือก่อสร้างบ้านสองชั้น ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน บ้านหลังนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึงไม้ ในวันที่ 3 ตุลาคม คุณพ่อมาีริโอ ก็เข้าไปอาศัยอยู่ด้วย คุณพ่อได้เรียกบ้านหลังนี้ว่า บ้านปีนาร์ดี (pinardi) หาดใหญ่ ซึ่งบ้านหลังนี้อยู่ถึงปี ค.ศ. 1960 ก่อนหน้านั้นในด้านศาสนาคุณพ่อมารีโอ รูเซดดู (Fr. Mario Ruzzeddu) ก็จัดฉลองปัสกา กลางเดือนเมษายน ค.ศ. 1941 มีสัตบุรุษมาร่วม 36 คน นอกนั้นคุณพ่อยังได้ไปชุมพร บ้านดอน ภูเก็ต ยะลา (บ้านนิบง) และบ้านนรา เพื่อให้สัตบุรุษที่นั้นมีโอกาสทำปัสกาด้วย
ในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1941 พระคุณเจ้าปาซอตตี ได้แวะที่หาดใหญ่และได้ทำพิธีเสกบ้านที่คุณพ่อมารีโอเพิ่งสร้างเสร็จ พระคุณเจ้าพูดด้วยความแปลกใจว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านซาเลเซียนหรือสร้างไว้ในที่ของมิสซัง ดีใจมากในความร่วมมือ ตอนนั้นมีสมาชิกซาเลเซียนอยู่ประจำ 3 ท่าน คือมีสามเณรรูนี (Rooney) มาเพิ่มด้วย โอกาสนี้มีสัตบุรุษมาร่วมฉลอง 55 คน เท่ากับวันฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ บ้านหลังนี้เป็นที่พักและเป็นวัดน้อยถวายแด่แม่พระนิรมลทิน
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน คุณพ่อเจ้าคณะได้เดินทางไปหาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในการประชุมที่ปรึกษาของแขวง ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 194ฯ คุณพ่อเจ้าคณะได้รายงานต่อที่ประชุมรายละเอียดเกี่ยวกับบ้านซาเลเซียนที่หาดใหญ่ว่า เป็นบ้านระดับสากล มีสมาชิก 4 คน 4 สัญชาติ คุณพ่อมาริโอเป็นชาวอิตาเลียน คุณพ่อวันเดอร์วอร์ทเป็นชาวฮอลแลนด์ สามเณรรูนีเป็นชาวไอริช และมีภราดาอนันต์ ฉายาบรรณเป็นคนไทย (อ้างการบันทึกบ้านเณรซาเลเซียนบางนกเนขวก 18/11/1941)
ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 สงครามญี่ปุ่นได้เริ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนในวงการเมืองเขารู้มาหลายเดือนแล้ว ทำให้ชาวต่างประเทศ ชาวยุโรป เดินทางออกนอกประเทศกันก่อนแล้วเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวสงขลาและหาดใหญ่กลัวกันมาก
ในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ 1941 สมาขิกซาเลเซียน 2 คน (ซึ่งเป็นชาวเนเธอร์แลนด์ และชาวไอริช) ถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวไปสงขลา และส่งตัวไปกักขังต่อที่กรุงเทพฯ (1 – 6 - 1942) (ทำให้คุณพ่อเสียใจและผิดหวังเป็นครั้งที่ 2) คุณพ่อมารีโอ จึงอยู่กับภราดาอนันต์ ฉายาบรรณ (ฮกลี้) เท่านั้นที่บ้านซาเลเซียนหาดใหญ่
ระหว่างปี ค.ศ. 1942 ถึงจบสงคราม ที่สงขลาและหาดใหญ่มีชาวญี่ปุ่นอยู่เต็ม ชีวิตค่อนข้างลำบาก เพราะการติดต่อกับส่วนกลางได้ยาก มีขโมยชุกชุม คนจีนที่หาดใหญ่มีความกังวลต่อการโฆษณาของรัฐและการเบียดเบียนคนจีนในหลายๆ เรื่อง แต่ในทางกลับกันคริสตังคิดถึงพระมากขึ้นมาวัดมากขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1942 มีสัตบุรุษมาทำปัสกาที่หาดใหญ่ 60 คน ในโอกาสนี้คุณพ่อได้โปรดศีลล้างบาป 4 คน อย่างน้อยในงานอภิบาลท่านได้รับความบรรเทาใจบ้าง
อุปสรรคในการเปิดโรงเรียน
ทางเจ้าหน้าที่อำเภอแนะนำคุณพ่อมารีโอให้ยื่นเรื่องขอเปิดโรงเรียนสามัญดีกว่าที่จะสอนพิเศษเท่านั้น คุณพ่อเจ้าคณะได้ส่งครูทองดีจากโรงเรียนสารสิทธิ์บ้านโป่ง มาช่วยคุณพ่อมารีโอเตรียมเอกสาร และยื่นเรื่องขอเปิดกิจการโรงเรียนในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1942 และคุณพ่อมาริโอคาดว่า จะได้รับอนุญาตในเร็ววัน แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่ได้ส่งเรื่องไปและกลับมาเพื่อแก้ไขหลายต่อหลายครั้ง โดยอ้างว่า
1. คุณพ่อไม่มีวุฒิการศึกษาเพื่อดำเนินกิจการโรงเรียน
2. อาคารเรียนไม่เป็นสัดส่วน ทั้งบริเวณอาคารมีการปลูกสวนผักทั่วไป ไม่มีสนามที่เหมาะสมสำหรับนักรียน
3. คุณพ่อขออนุญาตเปิดโรงเรียนในที่ดินของคนอื่น
ในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1942 คุณพ่อเจ้าคณะและที่ปรึกษาได้พิจารณาเรื่องที่ดินที่หาดใหญ่ ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม ปีเดียวกัน คุณพ่อเจ้าคณะและที่ปรึกษาได้พิจารณาเรื่องการเปิดโรงเรียนทีหาดใหญ่ คณะที่ปรึกษามีความเห็นว่า การเปิดโรงเรียนที่หาดใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ จึงอนุมัติงบประมาณ 4,000 บาทเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนต่างหากจากบ้านพัก เพื่อขจัดอุปสรรคในการอนุมัติเปิดโรงเรียนให้คุณพ่อเจ้าคณะได้หาวิธีแก้อุปสรรคอื่นๆ (ดูมิติของที่ปรึกษาเจ้าคณะ 03/10/1942)
ฉะนั้น วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 คุณพ่อเจ้าคณะได้ส่งคุณพ่อแฮกเกอร์ ฟรีเยริโอ ซึ่งมีประกาศนียบัตรครูมูล เหมาะที่จะเป็นควรใหญ่ของโรงเรียน แต่ในวันที่ 12 มีนาคม คุณพ่อได้กลับไปบ้านโป่ง เพราะว่าท่านทำอะไรยังไม่ได้ขณะที่ยังไม่มีการก่อสร้างอาคารเรียนต่างหากจากบ้าน ต่อมาวันที่ 5 เมษายน คุณพ่อเจ้าคณะได้ส่งคุณพ่อแตร์ปิน (Fr. Alessandro Terpin) เพื่อออกแบบอาคารเรียน แต่ว่าที่ 26 เดือนเดียวกัน คุณพ่อแตร์ปิน ถูกขโมยนาฬิกาและกระเป๋าเงิน ท่านจึงเสียใจและเดินทางกลับไปบ้านโป่ง เรื่องการออกแบบอาคารเรียนจึงชะงักลงไป
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 คุณพ่อเจ้าคณะส่งคุณพ่อยูลีโอ อ๊อตโตลินา (Fr.Giulio Ottolina) ท่านมาถึงหาดใหญ่วันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1943 เป็นผู้ช่วยคุณพ่อมารีโอระหว่างนั้นคุณพ่อมารีโอใช้เวลาในการเดินทางไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนใน 14 จังหวัดภาคใต้จนถึงภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชุมพรและโดยเฉพาะที่เบตง ฤดูการบันทึกที่หาดใหญ่ 16 กันยายน ค.ศ.1941 , 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942) ในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1943 สามเณรวีระ ปอลและอันเดรมานพ แซ่เจ็ง (เจนผาสุก) ได้มาอยู่ที่หาดใหญ่มาเยี่ยมพี่ชายชื่อ นายคอเหลียง แซ่เจ็ง ซึ่งมีกิจการค้าขายดีพอสมควร เป็นคนที่รู้จักภาษาจีนหลายท้องถิ่น และรู้ภาษาญี่ปุ่นด้วย สามเณร 2 คนได้พักอยู่ที่วัดจนถึงวันที่ 10 เมษายน จึงกลับไปบ้านโป่ง
ในปี ค.ศ. 1943 คุณพ่อมาริโอไปเบตงหลายครั้งพร้อมคุณมนัส เพื่อหาวิธีที่จะได้เอกสารที่ดินของวัด เพราะเถ้าแก่โลฮาลิบได้ถึงแก่กรรมแล้วที่ปีนัง (ดูบันทึกรายวัน 25/05, 29/08, 30/11/1943) แต่ท่านทำไม่สำเร็จในเรื่องนี้เพราะความวุ่นวายของสงคราม
ในเดือนกันยายน ชาวอิตาเลียน ถูกควบคุมบริเวณถึงเดือนพฤศจิกายน จึงทำอะไรไม่ได้เลยในวันที่ 5 ธันวาคม มีคนมาขโมยปากกาและกระเป๋าเงินของคุณพ่ออ๊อตโตลินา ต่อมาในวันที่ 6 ครอบครัวหนึ่งที่อยู่ในที่ของวัดถูกขโมยทองที่เป็นสินสอด ผู้ใหญ่จึงเข้าใจว่าขโมยซึ่งได้ขโมยหลายครั้งแล้วนี้ต้องเป็นคนที่อยู่ในบริเวณวัด ในวันที่ 12 ธันวาคม ขณะที่ทุกคนเดินทางไปฉลองที่บ้านเถ้าแกเซีกิมหยง คนเฝ้าบ้านได้เห็นขโมยเข้าบ้านเป็นคริสตชนจีนจากเบตง
เมื่ออิสระจากการควบคุม คุณพ่อมารีโอได้เดินทางไปสงขลาเพื่อติดตามเรื่องอนุญาตเปิดโรงเรียน แต่ในวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1944 ศึกษาธิการอำเภอส่งเรื่องโรงเรียนกลับมาให้คุณพ่อมารีโอ มีใจความว่า ไม่อนุญาตให้เปิดโรงเรียน (คุณพ่อมารีโอ ได้รับความผิดหวังเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นความผิดหวังอย่างหนัก) ความจริงคือตอนนั้นรัฐบาลสมัยหลวงพิบูลสงคราม มีนโยบายปิดโรงเรียนเอกชนภาคชั้นประถมอยู่แล้ว เพราะเป็นความรับผิดชอบของรัฐเท่านั้น และมีการเบียดเบียนศาสนา
คุณพ่อมารีโอได้เริ่มงานเยี่ยมเยียนคริลตชนในภาคใต้ด้วยความร้อนรน และท่านเป็นผู้เสนอต่อผู้ใหญ่เรื่องการเปิดศูนย์อภิบาลที่หาดใหญ่ แต่ในที่สุดท่านก็ทำไม่สำเร็จในการเปิดโรงเรียนตามความตั้งใจแต่แรก ส่วนเถ้าแก่ซีกิมหยงให้กำลังใจคุณพ่อมาก และบอกคุณพ่อว่าอย่ากลัวเลยสถานการณ์นี้จะผ่านพ้นไปเร็ว ถ้าคณะซาเลเซียนจะเปิดโรงเรียนเมื่อไรท่านจะให้ที่ดินอีก 5 ไร่ (ดู18/03/1944)
เถ้าแก่ซีกิมหยงได้มาอยู่ที่หาดใหญ่ถาวร ตั้งแต่เริ่มสงครามโลกแล้ว เพราะคนจีนทุกคนถูกบีบและเพ่งเล็งหลายเรื่อง ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1944 คุณพ่อมารีโอ รูเซดดู เองก็ถูกย้ายไปอยู่บ้านโป่ง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับอุปสรรคที่หาดใหญ่
1. คุณพ่อเจ้าคณะได้ดำเนินการเปิดศูนย์อภิบาลที่หาดใหญ่ เพราะมีอนุญาตจากผู้ใหญ่แล้วและท่านคิดว่าสงครามอินโดจีนจะไม่เป็นอุปสรรคต่อโครงการนี้ที่หาดใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างไกลแต่ว่าไม่มีใครสามารถคาดคิดว่าจะมีสงครามญี่ปุ่นเกิดขึ้น พร้อมผลกระทบต่างๆ
2. เมื่อเปิดกิจการและสร้างบ้านแล้ว การถอนสมาชิกซาเลเซียนกลับไป หมายความว่าทุกอย่างจะสูญเสียไปพร้อมที่ดินก็ได้
3. นอกนั้นยังมีปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดิน ว่าเป็นของแขวงซาเลเขียน หรือเป็นของสังฆมณฑลราชบุรี เรื่องนี้จะเป็นเหตุให้การเปิดโรงเรียนจะล่าช้าไป ตามที่เราจะเห็นในภายหลัง
คุณพ่ออ็อตโตลีนา ยูลีโอ (Fr. Giulio Ottolina)
เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 (1944-1947)
เมื่อคุณพ่อมารีโอ รูเซดดู ย้ายไปแล้ว คุณพ่อยูลีโอ อ๊อตโตลินาได้รับมอบหมายให้ เป็นผู้รับผิดชอบบ้านซาเลเซียนที่หาดใหญ่ ในวันที่ 5
กรกฎาคม ค.ศ. 1944 คุณพ่อปองกีโอเน ได้รับมอบหมายให้ไปหาดใหญ่เป็นผู้ช่วยคุณพ่อยูลีโอ อ๊อตโตลินา
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1944 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 พันธมิตรค่อยๆ ตีญี่ปุ่นถอยกลับและเข้ามาใกล้ประเทศไทย มีการทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ บ้านโป่ง สงขลา จึงมีครอบครัวคริสตชนคนจีนบางครอบครัวมาขอที่อาศัยในที่ที่ซาเลเซียนอาศัยอยู่ที่หาดใหญ่ด้วย ระหว่างปี ค.ศ. 1944 - 1946 บิดามารดาและครอบครัวของคุณพ่อวีระ เจนผาสุก ไปอยู่ในบริเวณวัดที่หาดใหญ่ด้วย ตอนนั้นมีคนเข้าวัด 50 - 80 คน ส่วนคุณพ่ออ๊อตโตลีนา ยังกล้าที่จะเดินทางไปเบตง ภูเก็ต เพื่อเยี่ยมสัดบุรุษที่นั่นบ้าง
เถ้าแก่ซีกิมหยงได้มาอยู่ที่หาดใหญ่ตั้งแต่เริ่มสงครามโลกแล้ว ท่านคอยให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ และคุ้มครองด้วย เถ้าแก่ซีกิมหยง ยังสัญญาว่าจะให้ที่ดินอีก 5 ไร่ในภายหน้า ถ้าคณะซาเลเซียนจะทำการเปิดโรงเรียน (18 มีนาคม 1944)
ในเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม ค.ศ. 1944 คุณพออ๊อตโตลีนา พยายามเร่งให้เถ้าแก่ซีกิมหยง โอนที่ดินให้คณะซาเลเซียนในนามของนายมานะ หรือให้เซ็นสัญญาให้คณะซาเลเซียนเช่า เป็นเวลา 20 ปีแต่เรื่องนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างบ้านซาเลเซียนหาดใหญ่และเถ้าแก่ เถ้าแก่จึงเริ่มปลูกผักและรังวัดเพื่อกำหนดเขตที่ฝังศพของครอบครัวในที่ดินใกล้บ้าน ทั้งยังปล่อยข่าวว่าอาจจะเปิดตลาดในที่ดินดังกล่าว คุณพ่อเจ้าคณะจึงเดินทางมาหาดใหญ่ และให้เรื่องนี้ยุติไว้ก่อน ในไม่ช้าจะทำเรื่องโอนเข้ามูลนิธิ แต่เรื่องนี้ใช้เวลาหลายปี กว่าจะสำเร็จ
เมื่อสงครามยุติในเดือนสิงหาคมและมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คนจีนจึงไม่กลัวแล้วและเริ่มใช้ชีวิตปกติ เถ้าแก่ซีกิมหยงยังสัญญากับคุณพ่อปองกิโอเน ว่าท่านพร้อมช่วยเงินก้อนหนึ่งด้วยถ้าคณะซาเลเซียนจะเปิดโรงเรียน (31 – 8 - 1945) คุณพ่อเจ้าคณะจึงได้อนุมัติและมอบหมายให้คุณพ่อปองกิโอเนลงมือก่อสร้างอาคารเรียนชั้นเดียวทางทิศตะวันตกที่ได้อนุมัติในปี ค.ศ. 1942 และเตรียมตัวสำหรับการเปิดโรงเรียน แต่แล้วปัญหาเรื่องเจ้าของที่ดินยังไม่ยุติ เรื่องการเปิดโรงเรียนจึงต้องพักอีกครั้งหนึ่ง
ในเดือนเมษายน ค.ศ.1946 คุณพ่อปองกิโอเนย้ายไปอยู่ที่หัวหิน มีคุณพ่อราฟาแอล กูร์ตี (Fr. Rafael Curti) มาช่วยคุณพ่ออ๊อตโตลีนา เป็นเวลา 1 ปี
คุณพ่อยอบ การ์นินี (Giobbe carnini)
เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 3
พระคุณเจ้าปาซอตตีมีโครงการเปิดโรงเรียนของสังฆมณฑลราชบุีรีที่หาดใหญ่เพื่อให้หาดใหญ่เป็นศูนย์ของสังฆมณฑลในภาคใต้ ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 คุณพ่อยอบ การ์นินี และคุณพ่อนาตัล มาเนมาอยู่ประจำที่หาดใหญ่ พระคุณเจ้าปาซอตตีให้คุณพ่อการ์นินี เป็นอธิการ และคุณพ่อนาตัล มาเน เป็นเหรัญญิก (26 – 5 - 1947) พระคุณเจ้าปาซอตตี มอบงานเร่งด่วนที่จะติดตามสัตบุรุษ 14 จังหวัดภาคใต้อย่างใกล้ชิด เพราะในระหว่างสงครามอินโดจีน งานด้านการอภิบาลที่กระจัดกระจายได้หยุดชะงักลง และนอกจากการทำงานอภิบาลแล้ว พระคุณเจ้าปาซอตตียังได้ให้คุณพ่อการ์นินี และคุณพ่อมาเน รับผิดชอบการติดตามเรื่องการเปิดกิจการของโรงเรียนที่หาดใหญ่แต่ไม่สำเร็จเหมือนกัน ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 มีการตั้งหมู่คณะซาเลเซียนอย่างเป็นทางการที่หาดใหญ่
ในปี ค.ศ. 1948 คุณพ่อเปโตร การ์เรตโตได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงซาเลเซียนแห่งประเทศไทย และในปี ค.ศ. 1949 เถ้าแก่ซีกิมหยงได้ถึงแก่กรรม โดยยังไม่ได้โอนโฉนดที่ดินที่ได้ถวายให้แก่ซาเลเซียน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949 คุณพ่อเจ้าคณะได้รายงานให้ที่ปรึกษาขอ่งท่านทราบว่าพระคุณเจ้าปาซอตตีปรารถนาให้หาดใหญ่เป็นศูนย์สังฆณฑลทางภาคใต้ ฉะนั้นท่านจึงปรารถนาให้มีโรงเรียนแผนกชายโดยมีคณะซาเลเซียนเป็นผู้บริหาร และโรงเรียนแผนกหญิงโดยมีคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์เป็นผู้บริหาร แต่ยังมีการติดขัดอยู่ว่า ซาเลเซียนยังไม่ได้รับการโอนโฉนดที่ดิน อย่างไรก็ตามมิสซังยังมีที่ดิน 20 ไร่ที่เชิงเขาคอหงส์ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1949 ซิสเตอร์ธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ได้มาที่หาดใหญ่ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเปิดโรงเรียนสำหรับนักเรียนหญิง โดยที่ลูกของเถ้าแก่ซีกิมหยงจะถวายที่ดิน 3 ไร่ ตรงข้ามโรงเรียนศรีนคร
การเปิดโรงเรียนซาเลเซียนที่หาดใหญ่
ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1950 คุณพ่อเจ้าคณะ เปโตร การ์เรตโต และที่ปรึกษา ได้ร่างเอกสารแสดงว่าเป็นการเร่งด่วนที่จะเริ่มกิจการโรงเรียน ในที่ดินที่เถ้าแก่ซิกิมหยงมอบให้ ถึงแม้จะยังไม่แน่ชัดว่าเป็นของใครก็ตาม ฉะนั้นเดี๋ยวนี้หมดเวลาแล้วที่จะพิจารณาเรื่องใครเป็นเจ้าของที่ดิน ซาเลเซียนควรจะลงมือเปิดโรงเรียนเลย (ดูการบันทึกมติที่ประชุมที่ปรึกษา)
ในปี ค.ศ. 1950 ความฝันจึงเป็นจริงในที่สุด (ได้เวลาของพระ) ในเดือนมกราคม - มีนาคม มีการยื่นเอกสารเพื่อเปิดโรงเรียนซาเลเซียนที่หาดใหญ่ ชื่อว่า “โรงเรียนหาดใหญ่วิทยา่”
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1950 ซิสเตอร์บัลโดได้มาที่หาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งเพื่อยื่นเอกสารเปิดกิจการของโรงเรียนในที่ดินแปลงใหม่ โดยอาศัยการประสานงานของคุณนายสวัสดิ์ และพร้อมๆ กันนั้นคุณพ่อยอแซฟ วิตาลี (วันที่ 22 เมษายน) ได้มาประจำที่หาดใหญ่ และดำเนินการขอจัดตั้งโรงเรียนซาเลเซียนที่มีชื่อว่า “หาดใหญ่วิทยา”
แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็ได้เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้มีความจัดเจนในการดำเนินกิจการคาทอลิกที่หาดใหญ่ในภายหลัง คือ วันที่ 18 มีนาคม มีไฟไหม้ใหญ่ที่หาดใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุให้ลูกหลานของเถ้าแก่ซีกิมหยง ได้รับความเสียหายมาก ดังนั้นคุณพ่อยอแซฟ วิตาลี และคุณพ่อการ์นินี จึงได้รายงานเรื่อง ไฟไหม้ที่หาดใหญ่ และความเสียหายของครอบครัวของเถ้าแก่ซีกิมหยง ต่อคุณพ่อเจ้าคณะ ท่านจึงได้ขออนุญาตจากผู้ใหญ่ที่กรุงตุริน เพื่อกู้เงินจากต่างประเทศสำหรับกิจการของแขวง และให้ครอบครัวของเถ้าแก่ซีกิมหยงได้กู้จำนวนหนึ่ง เพื่อฟื้นฟูฐานะทางครอบครัวให้ดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้ครอบครัวเถ้าแก่ซีกิมหยง ได้ถวายที่ดินให้คณะซาเลเซียนอีก 5 ไร่ ที่ติดกับที่ดิน 6 ไร่เดิม ทั้งยังถวายอีก 3 ไร่เพื่อใช้เป็นกิจการของวัด (คือ 3 ไร่ที่เคยคิดจะให้ซิสเตอร์คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์) นอกจากนั้นครอบครัวของเถ้าแก่ซีกิมหยง ยังได้ถวายที่ดินที่สงขลาจำนวน 20 ไร่ให้แก่พระคุณเจ้าคาร์เรตโต ซึ่งตอนนั้นได้รับตำแหน่งเป็นประมุขสังฆมณฑลราชบุรีแล้ว เพื่อเป็นการใช้หนี้ในปี ค.ศ.1956 พระคุณเจ้าคาร์เรตโตได้มอบที่ดินให้แก่แขวงซาเลเซียนแห่งประเทศไทย
ในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1950 คุณพ่อเจ้าคณะ เปโตร คาร์เร็ตโต ที่ศาลาแดง ได้รับโทรเลขจากหาดใหญ่แจ้งว่า บริษัทยางภาคใต้ (Southern Rubber Co.;td) ได้ขอซื้อที่ดิน 12 ไร่ของมิสซังที่คอหงส์ แต่ตอนนั้นพระคุณเจ้าปาซอตตีป่วย ที่ดินผืนนี้จึงขายในปีต่อไป ในราคา 120,000 บาทโดยพระคุณ เปโตรคาร์เรตโต เป็นผู้ให้ขาย
วัดลำดับที่ 2 และที่ 3
คุณพ่อโยเซฟ วิตาลี (Joseph vitali) เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 4
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1951 คุณพ่อยอบ การ์นินี ได้เดินทางกลับไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ พระคุณเจ้าคาร์เร็ตโตได้มาเยี่ยมวัดหาดใหญ่และแต่งตั้ง คุณพ่อวิตาลีให้เป็นผู้รับผิดชอบสัตบุรุษที่วัดหาดใหญ่ ส่วนคุณพ่อนาตัล มาเน จะรับผิดชอบสัตบุรุษที่กระจัดกระจายตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงนราธิวาส และเบตง รวม 14 จังหวัด ในเวลาเดียวกัน พระคุณเจ้าคาร์เร็ตโตได้อนุญาตให้คุณพ่อวิตาลีได้ขายที่ดิน 12 ไร่ที่คอหงส์เพื่อใช้ในการก่อสร้างวัดชั่วคราวหลังที่ 2 ด้านหลังบ้าน 2 ชั้น เพื่อความสะดวกของผู้ที่มาร่วมมิสซา
ในปี ค.ศ. 1952 นี้เองมีคุณพ่อคณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์มาอยู่ประจำที่ภูเก็ต เพื่อรับผิดชอบการอภิบาลสัตบุรุษภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่ระนองถึงตรัง ในปีเดียวกันนี้เองมีคำสั่งจาก พระคุณเจ้าคาร์เรตโต ให้มีคุณพ่ออยู่ประจำที่บ้านแสงอรุณเพื่อรับหน้าที่ดูแลสัตบุรุษชุมพรและสุราษฎร์ธานีด้วย คุณพ่อนาตัล มาเน จึงมีพื้นที่รับผิดชอบลดน้อยคงเหลือตั้งแต่นครศรีธรรมราชถึงนราธิวาสเท่านั้น กลุ่มคริสตชนที่บ้านทุ่งลุงกำลังเจริญเติบโต คุณพ่อการ์นินี เคยไปทำพิธีมิสซาให้เขาเป็นภาษาจีนในบ้านไม้ที่สวนยางของเขา กลุ่มนี้จึงมีการรวมตัวกันดีในปี ค.ศ. 1953 พระคุณเจ้าคาร์เร็ตโตได้มอบที่ดิน 3 ไร่ที่ได้รับมาจากเถ้าแก่ซีกิมหยงให้แก่โรงเรียนซาเลเซียนที่หาดใหญ่ ทั้งมอบหน้าที่ให้คุณพ่อวิตาลเป็นผู้รับผิดชอบงานอภิบาลในจังหวัดสงขลา ส่วนคุณพ่อมาเนรับผิดชอบในอาณาบริเวณ และเป็นเหรัญญิกของโรงเรียนด้วย
ในปี ค.ศ. 1954 มีการก่อสร้างวัดหลังที่สามในที่ดิน 3 ไร่ ทางทิศตะวันออกตรงที่มีวัดหลังปัจจุบัน เพื่อให้เป็นสัดส่วนต่างหากจากอาคารเรียนต่างๆ วัดหลังที่สามนี้เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ยาว 24 เมตรคุณพ่อมารีโอ รูเซ็ตดู (Marrio Ruzzeddu) เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 5 (สมัยที่2)ในปี ค.ศ. 1954 คุณพ่อนาตัล มาเน ย้ายไปอยู่บ้านโป่ง มีคุณพ่อมารีโอกลับมาอยู่หาดใหญ่แทนคุณพ่อนาตัล มาเน ทำหน้าที่รองอธิการโรงเรียนและเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดหาดใหญ่ และอาณาบริเวณ
คำยืนยันลูกค้า
คำยืนยัน ในคุณภาพและผลงานการจัดทัวร์จากลูกค้าบางส่วนของ นิววิวทัวร์
คำยืนยันแด่นิววิวทัวร์ - ซีเอสอาร์ และ ทีมบิ้วดิ้ง ชลบุรี (เพียว เดอริมา) 120 ท่าน Part 5
8681 Views
คำยืนยันแด่นิววิวทัวร์ - กรุ๊ปคุณลักษณา (บจก.ยังกรุ๊ป เอ็กซ์เพรส) ทัวร์ระนอง-ทะเลหัวใจมรกต 40 ท่าน Part1
18785 Views
คำยืนยันแด่นิววิวทัวร์ - Team Building นครนายก (มิยามะ) 25 ท่าน Part 1
10588 Views